สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนลุ้นชม "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้นเดือนตุลาคม 2567 โคจรกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า
วันที่ 23 ก.ย. 2567 มีรายงานว่า แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความชวนลุ้นชม "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" อาจสว่างมากกว่า "ดาวศุกร์" ต้นเดือนตุลาคมนี้
โดยระบุว่า ชวนลุ้นชมดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ และจากการคำนวณล่าสุด ชี้ว่า ดาวหางอาจมีความสว่างได้มากกว่า “ดาวศุกร์” จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท
ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ค้นพบโดยระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 แต่ต่อมาพบว่ามีรายงานจากนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวจื่อจินซานในประเทศจีน ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม ดังนั้น ชื่อของหอดูดาวทั้งสองฝั่งจึงกลายเป็นชื่อของดาวหางดวงนี้
ขณะนี้ (23 ก.ย. 2567) ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพุธและดาวศุกร์ โดยจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 ก.ย. 2567 ที่ระยะห่างประมาณ 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ) ก่อนเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะโคจรกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า
ในวันที่ 28 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ เป็นวันที่ดาวหางจะโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ดาวหางจะได้รับรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จนทำให้ปลดปล่อยฝุ่นและแก๊สออกมามากยิ่งขึ้น และอาจเกิดเป็นหางที่พุ่งยาวไปในอวกาศได้ไกลหลายล้านกิโลเมตร
Joseph Marcus นักวิจัยด้านดาวหางชี้ว่า ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส อาจมีค่าความสว่างปรากฏได้สูงมากถึงแมกนิจูด -6.9 ในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2024 ซึ่งมีความสว่างมากกว่าดาวศุกร์ในช่วงที่สว่างที่สุดในรอบปี (แต่สว่างน้อยกว่าดวงจันทร์ครึ่งดวง) หากเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจสามารถมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่าแม้ท้องฟ้าไม่ได้มืดสนิท
นอกจากนี้ จากเว็บไซต์ COB ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลการสังเกตการณ์จากนักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า จากช่วงกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 2024 ที่ผ่านมา ดาวหางมีค่าความสว่างที่เพิ่มขึ้นสูงเกือบ 10 เท่า โดยข้อมูลจากการสังเกตการณ์จริงล่าสุด (21 กันยายน 2567) พบว่าดาวหางมีค่าความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด 3.6 ซึ่งเป็นค่าความสว่างที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว
อย่างไรก็ดี ทางเว็บไซต์ COB ได้แสดงค่าความสว่างสูงสุดของดาวหางที่แตกต่างออกไป โดยกราฟแสงของดาวหางมีค่าความสว่างสูงสุดในวันที่ 8-9 ตุลาคม 2567 อยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 2.28 (เทียบเท่ากับดาว Caph ในกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย) ซึ่งก็ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อาจจำเป็นจะต้องสังเกตการณ์ในพื้นที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากมลภาวะทางแสง
ดังนั้น มาร่วมติดตามกันว่าหลังจากนี้ดาวหางจะมีความสว่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และในวันที่ 28 กันยายน 2567 มาร่วมลุ้นกันว่าดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสจะรอดจากการเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้หรือไม่ หากรอดออกมาได้ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมก็จะเป็นช่วงที่เหมาะกับการออก “ตามล่าดาวหาง” มากที่สุด ซึ่งอาจสว่างโดดเด่นจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
สำหรับการสังเกตการณ์ในประเทศไทย ช่วงนี้ไปจนถึงประมาณวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ดาวหางจะปรากฏในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก และหลังจากนั้นดาวหางจะปรากฏบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก
โพสต์โดย : นายน้อย เมื่อ 23 ก.ย. 2567 15:27:51 น. อ่าน 20 ตอบ 0
ดูฟุตบอลออนไลน์