scorezod.com
Menu

ชอบเป็น “ตะคริว” ตอนกลางคืน… สัญญาณความผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม

ตะคริวคืออะไรและปวดแบบไหนที่ใช่ตะคริว ?

ตะคริว คือ อาการหดเกร็ง ของกล้ามเนื้ออย่างฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ ตะคริวจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งและทำให้รู้สึกปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง ซึ่งมักจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งหรือเพียงชั่วครู่เท่านั้น พอทิ้งไว้สักพักอาการก็จะดีขึ้นได้ 

การเป็นตะคริว นี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายๆ มัดพร้อมกันก็ได้เช่นกัน  ในบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนสะดุ้งตื่น หรือที่เรียกว่าตะคริวกลางคืน ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขาและพบได้บ่อยในผู้สูงอายุและวัยกลางคน

สาเหตุที่ทำให้เกิดตะคริว

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดตะคริว แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อยๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ มากเกินไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่า อาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่ดี เป็นต้น

ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดตะคริว
ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดตะคริวได้ แต่ก็พอจะบอกคร่าวๆ ได้ว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดตะคริว

1. การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
2. ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ซึ่งมักเกิดเมื่อมีอาการท้องเสีย อาเจียน เสียเหงื่อมาก หรือรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรง คือเกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกาย และมักจะเป็นอยู่นาน
3. ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
4. หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำ หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
5. กล้ามเนื้ออ่อนล้า หรือกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง จากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิดตะคริวได้บ่อย
6. การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
7. กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
8. กล้ามเนื้อขาดเลือด หากออกกำลังกายอย่างหนักโดยที่ไม่ได้วอร์มอัพ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ
9. การนอน นั่ง หรือยืน ในท่าที่ไม่สะดวกนานๆ ก็ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก และเกิดตะคริวได้เช่นกัน
10. ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนานๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี


เทคนิคแก้ปัญหาการเกิด “ตะคริว” ระหว่างนอนหลับ

ผู้ที่มักจะเป็นตะคริวระหว่างหลับควรนอนในท่าที่ผ่อนคลาย อย่าให้กล้ามเนื้อตึง และควรจะห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น และหากเกิดอาการเป็นตะคริวขึ้นมาในตอนกลางคืนหรือในขณะที่นอน ให้คุณยืดกล้ามเนื้อขา โดยยืดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที ทำแบบนี้ 5-10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่าจะหาย


และถ้าหากคุณ มักจะเป็น ตะคริว ตอนกลางคืนบ่อยๆ ก็ควรดื่มนมก่อนนอน เพื่อเพิ่มแคลเซียมให้กับร่างกาย และยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองขาให้ขาสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 นิ้ว พร้อมทั้งฝึกยืดกล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวบ่อยๆ นอกจากนี้ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะ ตะคริว” มักเกิดในผู้ที่ขาดการออกกำลังกายและมีร่างกายที่อ่อนแอ


โพสต์โดย : เจ้าหนู เจ้าหนู เมื่อ 8 ม.ค. 2567 06:40:55 น. อ่าน 71 ตอบ 0

facebook