การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญของสิ่งที่มีชีวิตไม่น้อยไปกว่าการได้รับประทานอาหารที่ดี และการได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ สังเกตได้ว่ามนุษย์เราใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ การนอนหลับนั้นเป็นช่วงที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือดได้พักผ่อน เพราะร่างกายเรานอนนิ่ง ไม่ได้ออกแรงใด ๆ จึงไม่ต้องการการสูบฉีดโลหิตมากเท่าไรนัก นอกจากนี้ ในขณะที่มนุษย์นอนหลับนั้นจะมีการซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย และการปรับสมดุลของสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย และที่สำคัญในระหว่างที่มนุษย์นอนหลับนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่สมองทำการเรียบเรียงข้อมูลต่าง ๆ ที่สมองได้รับทราบในวันนั้น ๆ เข้าสู่การเรียบเรียงและจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถดึงมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงนับได้ว่าการนอนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้สมองเกิดการจดจำและมีพัฒนาการตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมโดยทั่วไปในผู้ใหญ่วัยทำงานจะเฉลี่อยู่ที่ 7 -9 ชั่วโมง นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนอนหลับยังแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
Q : ถ้าคนเรานอนไม่พอติดต่อกันเป็นเวลานานจะเป็นอะไรหรือไม่ และถ้าคนเรานอนมากเกินไปจะส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่
A : จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่นอนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานานนั้นจะส่งผลต่อการเกิดสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ โดยส่งผลต่อการมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น การเกิดภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองในสมอง โรคซึมเศร้า รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
นอกจากนี้ การนอนหลับไม่เพียงพอนั้น ยังส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่มากขึ้นกว่าปกติ และยังส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ในทางตรงกันข้าม การนอนหลับที่มากเกินไป อาจเป็นปกติสำหรับบุคคลบางกลุ่ม เช่น วัยรุ่น บุคคลที่นอนไม่พอมาก่อนหน้านี้ หรือบุคคลที่มีการเจ็บป่วย และจากข้อมูลในปัจจุบันยังไม่แน่ใจว่าการนอนหลับมากเกินไปนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่
Q : ทำไมบางครั้งเรารู้สึกว่านอนไม่พอ
A : ความรู้สึกนอนไม่พอหรือนอนไม่อิ่มอาจเกิดจากหลายสาเหตุเบื้องต้น ควรสำรวจว่าจำนวนชั่วโมงที่นอนน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้าน้อยเกินไปให้เพิ่มชั่วโมงการนอนหลับให้พอทั้งวันทำงานและวันหยุด แต่หากเพิ่มชั่วโมงการนอนหลับแล้วรู้สึกนอนไม่พออีกอาจเกิดจากคุณภาพการนอนหลับไม่ดี เช่น การนอนหลับถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีทำให้หลับไม่สนิท หรือมีโรคจากการนอนหลับ เช่น นอนหลับและหยุดหายใจขณะหลับ โรคขากระตุก เป็นต้น จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการแก้ไข
Q : การออกกำลังกายมีผลต่อการนอนหลับอย่างไรบ้าง
A : การศึกษาพบว่า การออกกำลังายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ในลักษณะของแอโรบิค เช่น การเดิน การวิ่ง เป็นต้น จะช่วยทำให้การนอนหลับเกิดขึ้นได้ดี และต่อเนื่องตลอดคืนมากขึ้น เทียบกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่ควรเป็นช่วงเช้าหรือเย็น ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลาที่จะนอน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่พร้อมที่จะเข้าสู่การนอนหลับ
Q : เมื่อไหร่ควรจะปรึกษาแพทย์ด้านการนอน
A : โดยทั่วไปแล้ว ควรจะปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหาในการนอนต่อเนื่องกันเป็นเดือน ทั้ง ๆ ที่ได้ปฏิบัติตามที่แพทย์ได้แนะนำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาที่เร่งด่วน เช่น ตื่นขึ้นมากลางดึกด้วยอาการเจ็บหน้าอก หรือหายใจไม่ออก หรือมีอาการง่วงผิดปกติในระหว่างวัน เช่น งีบหลับหรือหลับในขณะขับรถ หรือมีภาวะนอนไม่หลับจนทำให้การทำงานหรือชีวิตประจำวันมีปัญหาก็ควรรีบปรึกษาแพทย์
โดยสรุป การนอนนั้นเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต โดยคิดเป็นระยะเวลา 1/3 ของวัน และระยะเวลาการนอนหลับที่เพมาสมนั้นเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน
ข้อดีของการนอนหลับที่ดี คือเป็นขบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่าง ๆ ของร่างกายจากการปรับสมดุลของสารเคมีต่าง ๆ หัวใจและหลอดเลือดได้พักผ่อน และเป็นขบวนการเรียบเรียงและจัดเก็บในสมอง พร้อมดึงกลับมาใช้และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
ข้อเสีย หรือผลจากการอดนอนเป็นเวลานาน ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง โรคซึมเศร้า มีภาวะอ้วน และเสี่ยงต่อเบาหวาน รวมไปถึงความจำและสมาธิที่แย่ลง ภูมิคุ้มกันลดลง อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียส่งผลต่อประสิทธิภาพ การทำงานที่ลดลง และอุบัติเหตุที่อาจเกิดเพิ่มขึ้น
เหตุที่เรารู้สึกว่านอนไม่พอ หรือนอนไม่อิ่ม อาจเกิดจากการนอนน้อยเกินไป แต่หากนอนเพียงพอแล้ว อาจเกิดจากคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม หรือการนอนกรน หรือโรคจากการนอนหลับต่าง ๆ
โพสต์โดย : เจ้าหนู เมื่อ 4 ม.ค. 2567 07:44:07 น. อ่าน 65 ตอบ 0