โรคนอนไม่หลับ เป็นภาวะที่มีความลำบากในการนอนหลับ ซึ่งอาการนอนไม่หลับก็มีหลายแบบด้วยกัน เช่น ใช้เวลาในการเริ่มนอนหลับนาน มีระยะเวลาในการนอนหลับน้อย การตื่นกลางดึกบ่อย หรือตื่นแล้วนอนหลับต่อไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งหากนอนหลับไม่เพียงพอหรือไม่ได้คุณภาพจะทำให้มีอาการเซื่องซึม ไม่สดชื่น อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ ส่งผลต่อความสามารถของการทำงานหรือการเรียนได้
การนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
• ด้านร่างกาย เช่น หยุดหายใจขณะหลับ เป็นไข้
• ด้านจิตใจ เช่น กังวล เครียด
• สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการนอน อากาศร้อน มีแสงหรือเสียงดังรบกวนระหว่างนอนหลับ
• การมีสุขลักษณะการนอนที่ไม่ดี เช่น เล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ดื่มกาแฟ
• การเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก (Time Zone) ทําให้เกิด Jet Lag
การใช้ยารักษาอาการนอนไม่หลับ โดยทั่วไป ยาที่ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ จะเป็นยากลุ่มที่มีฤทธิ์ช่วยส่งเสริมการนอนหลับให้ดีขึ้น ซึ่งมีหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ยากลุ่ม Benzodiazepine (BZD) ยากลุ่ม Non BZD ยา Melatonin สังเคราะห์ ยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ช่วยนอนหลับ หรือยาแก้แพ้
• ยากลุ่ม Benzodiazepine ชื่อของยากลุ่มนี้มีที่มาจากลักษณะทางโครงสร้างของยา โดยยากลุ่มนี้เป็นยาที่ช่วยนอนหลับที่แพทย์นิยมใช้ เช่น ยา Diazepam Clonazepam Alprazolam Lorazepam ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยเข้าไปเพิ่มระดับสารสื่อประสาทที่เรียกว่า GABA ซึ่งช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการคลายกังวล คลายกล้ามเนื้อ อีกด้วย ยากลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยได้อีก ตามระยะเวลาในการออกฤทธิ์ คือ กลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น และกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยาว โดยยากลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้นมักออกฤทธิ์ได้เร็วและมีฤทธิ์แรง ในขณะที่กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยาวมักเริ่มต้นออกฤทธิ์ช้ากว่าและมีฤทธิ์แรงน้อยกว่า ซึ่งการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการนอนไม่หลับ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง ต้องระมัดระวังเพราะยาอาจสะสมในร่างกายได้มากขึ้น เกิดผลของยาได้มากกว่าปกติ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินโดยพิจารณาร่วมกับความรุนแรงของอาการ โรคร่วม และอายุของผู้ป่วย
• ยากลุ่ม non-BZD ยากลุ่มนี้มีกลไกในการออกฤทธิ์คล้ายกับกลุ่มแรก แต่มีโครงสร้างแตกต่างกัน โดยยาที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนี้ คือ ยา Zolpidem โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที และมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 8 ชั่วโมง โดยข้อดีของยาในกลุ่มนี้ คือ พบการดื้อยาและการถอนยาน้อยกว่ายาในกลุ่มแรก
• ยา Melatonin สังเคราะห์ เมลาโทนิน เป็นสารที่มีอยู่ในร่างกายเป็นปกติอยู่แล้ว ตามกลไกของร่างกายสารนี้จะถูกหลั่งเมื่อระดับความเข้มของแสงลดลง ดังนั้นในตอนกลางคืนจะมีการหลั่งของสารนี้มากที่สุด เพื่อช่วยให้เกิดการนอนหลับ ซึ่งสารนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดวงจรการนอน ดังนั้น การให้ยานี้จึงเปรียบเหมือนการเลียนแบบธรรมชาติในการหลั่งสารเมลาโทนินออกมา โดยมักใช้ในผู้สูงอายุที่มักมีการหลั่งของเมลาโทนินน้อยลง หรือใช้รักษาการนอนผิดเวลา เนื่องจากเวลาการทำงานเปลี่ยนหรือการเปลี่ยนเวลาจากการเดินทาง
สิ่งที่สำคัญของการรับประทานยานอนหลับ คือ ไม่ควรรับประทานยาเกินกว่าที่แพทย์สั่ง และไม่ควรรับประทานยาร่วมกับแอลกอฮอล์ เนื่องจากยิ่งเพิ่มความง่วงซึม และอาจเพิ่มฤทธิ์กดการหายใจจนถึงแก่ชีวิตได้ การใช้ยาช่วยนอนหลับบางกลุ่ม โดยเฉพาะยากลุ่ม BZD เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการดื้อยา คือ เมื่อใช้ยาในปริมาณเท่าเดิม แต่ให้ผลน้อยลง และหากหยุดยาทันทีอาจทำให้เกิดอาการถอนยา คือ มีอาการ หงุดหงิด นอนไม่หลับ วิงเวียน สั่น และไม่มีสมาธิ
ดังนั้น การใช้ยานอนหลับจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และการให้คำแนะนำของเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรปรับเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง หรือหยุดยาเองทันที เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากยา การดื้อยา หรืออาการถอนยา
โพสต์โดย : เจ้าหนู เมื่อ 14 ธ.ค. 2566 19:23:06 น. อ่าน 61 ตอบ 0